วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint)

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (life cycle greenhouse gas emission) ครอบคลุมตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน ซึ่งจะทำให้ทราบว่า กว่าที่จะได้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นให้เราได้ใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการดำรงชีพหรือทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเท่าไร โดยแสดงออกมาในรูปของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญชนิดหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้นหากมีมากเกินกว่าที่ระบบของธรรมชาติจะรักษาสมดุลไว้ได้
ข้อมูลจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ นิยมนำมาจัดทำเป็นฉลากคาร์บอนซึ่งมี 2 ประเภทหลัก คือ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint label) และฉลาดลดคาร์บอน (carbon reduction label) ซึ่งเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทหนึ่งที่แสดงข้อมูลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้แก่ผู้บริโภคได้ทราบและใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อร่วมกับการพิจารณาด้านราคาและด้านคุณภาพของสินค้า ฉลากทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันตรงที่ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะแสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ได้ปล่อยออกจากวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์  ส่วนฉลากลดคาร์บอนจะแสดงเฉพาะระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงขั้นตอนการผลิตหรือการปรับวิธีการใช้งานผลิตภัณฑ์เพื่อให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงเป็นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบและวิธีการบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อแสดงความร่วมมือในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน
นอกจากเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว คาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังมีความสำคัญต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะทำให้ผู้ผลิตทราบว่าในแต่ละขั้นตอนของการผลิตสินค้ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณเท่าไร ทำให้เห็นประเด็นปัญหาที่ต้องปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิต หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในเรื่องการลดใช้พลังงานซึ่งหมายถึงการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้การแสดงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังเป็นการสื่อถึงความตั้งใจในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของผู้ผลิตอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลาดลดคาร์บอนยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย เนื่องจากขณะนี้คาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอนได้ถูกพัฒนาและใช้อยู่ในหลายประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน เป็นต้น ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเหล่านี้ 
 
ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดคาร์บอนของประเทศไทย
 
สำหรับประเทศไทย การพัฒนาฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลาดลดคาร์บอน ดำเนินงานโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์แล้ว 45 รายการ มีหลากหลายกลุ่มสินค้า เช่น เครื่องดื่มกระป๋อง เส้นด้ายยืดไนล่อน ไก่ย่างบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเหลวและเครื่องดื่ม เสื้อยืดผ้าฝ้าย ยางรถแทรกเตอร์ เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนฉลากลดคาร์บอนมีจำนวน 18 รายการ ได้แก่ ผลไม้อบแห้ง น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ไม้เทียม ปูนซีเมนต์ ถุงยางอนามัย กระเบื้องปูพื้นและมุงหลังคา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์เซรามิค พรมปูพื้น สีทาบ้าน น้ำนมถั่วเหลือง ก๊อกน้ำและวาล์ว เม็ดพลาสติก 
 
ตัวอย่างฉลากคาร์บอนของประเทศต่างๆ
 
 
          ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอนได้คือ องค์ความรู้ในเรื่องการประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) และการพัฒนาฐานข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม (Life Cycle Inventory Database: LCI) ของผลิตภัณฑ์พื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถใช้ข้อมูลการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัตถุดิบพื้นฐานมาใช้ในการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของสินค้าที่ผลิต หรือใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้
ประเทศไทยได้มีการดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ (Thai National Life Cycle Inventory Database) ในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของ 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) โดยมีเอ็มเทคเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงาน ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผ่าน “โครงการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า” เพื่อขยายขอบเขตการจัดทำฐานข้อมูลฯ ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครอบคลุมวัสดุพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญของประเทศไทย เช่น เหล็กและเหล็กกล้า โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก สารเคมีพื้นฐาน สี วัสดุก่อสร้าง การเกษตร ตลอดจนระบบการขนส่ง และการจัดการของเสียเมื่อหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น
 
 
 
 
 ผลิตภัณฑ์ของไทยที่ขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น