"ต้องรื้อระบบการผลิตครู"
สังเกตว่างานปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ 2 ในยุคที่มี จาตุรนต์ ฉายแสง ถูกจับวางเป็นเสนาบดีการศึกษา ซึ่งมาพร้อมกับ ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้มาอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาบดี และมี เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รับบทช่วยว่าการฯ เริ่มพูดไปในทิศทางเดียวกัน
เห็นได้จากทุกงานจะมีสูตรสำเร็จในการบรรยายหรือนโยบาย ที่เสนาบดีมอบหมายอธิบายความเพื่อให้หน่วยงาน 5 แท่ง ของ ศธ. ต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะคุณภาพมาตรฐานทางการศึกษาไทยวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ต้องทำอย่างทุ่มเทแบบไม่มีวันหยุด
จังหวะที่จะเรียกพลังความร่วมมือเพื่อยกคุณภาพการศึกษาไทยได้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่า จี้ไปที่ตัวเลขการจัดอันดับการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ และการประเมินผลที่หน่วยงานในประเทศ ออกมาตีแผ่ผสมโรง
แค่นี้ก็ยากที่จะสรรหาคำแก้ต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่กำลังตกเป็นจำเลยใหญ่น่าจะพุ่งเป้าไปที่สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ในการผลิตครู ตามด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องถูกผ่าตัด
จับหางเสียงจากผู้ช่วยเสนาบดีการศึกษา ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ขึ้นบรรยายในงาน 121 ปี การสถาปนาการฝึกหัดครูไทย หัวข้อ อนาคตของการผลิตครูเพื่อเป็นพลังแห่งการพัฒนาชาติ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สดๆ ร้อนๆ 29 กันยายน นี้เอง
ปัจจุบันเรามีตัวเลขครูที่จะเกษียณอายุใน 15 ปีข้างหน้า ประมาณ 2.8 แสนคน และมีตัวเลขผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ประกอบวิชาชีพครู 6 แสนคน
ขณะที่ในแต่ละปีฝ่ายผลิตจะมีผลผลิตครูออกมาเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5 หมื่นกว่าคน ซึ่งมีความต้องการใช้ครูแทนอัตราเกษียณเต็มที่ ไม่เกินปีละ 2 หมื่นคน แต่ปรากฏว่าบางสถาบันรับนักศึกษาครู 5,600 คน ถามว่าจะเอาคุณภาพมาจากไหน ถึงกับกราบขอร้องให้เลิกรับในลักษณะนี้ เมื่อขอแล้วไม่ฟังเหตุผล สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ จะต้องรื้อระบบการผลิตครูใหม่ทั้งหมดและจะมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสายครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้สังคมได้รับรู้ถึงคุณภาพความน่าเชื่อถือ
เพราะในชีวิตเกิดมาไม่เคยเห็นผู้บริหารการศึกษาคนใด ในโลก รับคนเข้ามาเรียนเพื่อตกงาน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2556
ความล้มเหลวของการศึกษากับปัญหานานัปการ
ในอดีตเมื่อครั้งกึ่งพุทธกาลหรือปี พ.ศ. 2500 นั้น การศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับของประเทศที่เจริญแล้วในซีกโลกตะวันตก เพราะมีคุณภาพและมีมาตรฐานการศึกษาสูง ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษหรือวิชาอื่นๆ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบัน) สามารถทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศหรือบริษัทธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แล้วเมื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศก็มีผลการเรียนดีเป็นที่ยอมรับของสถาบันการศึกษาต่างๆ แต่ต่อมาภายหลังการศึกษาไทยมีคุณภาพลดลงและมีมาตรฐานการศึกษาที่ตกต่ำลงเรื่อยมา
ผลการจัดอันดับการศึกษาขององค์กรระหว่างประเทศซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก คือ World Economics Forum – WEF เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2556 ได้จัดอันดับการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 142 และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยก็ติดอันดับรั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 8 (ไม่นับรวมลาวและเมียนมาร์) ผลจากการจัดอันดับการศึกษาในครั้งนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนแก่กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการบริหารจัดการการศึกษาของชาติที่จะต้องมีความรับผิดชอบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ก่อนหน้านี้สังคมไทยเคยตั้งคำถามถึงคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของชาติกับกระทรวงศึกษาธิการเสมอมา แต่เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ก็ไม่ค่อยสู้จะเข้าใจกระไรนัก เพราะผู้บริหารกระทรวงมักแสดงภูมิความรู้ด้วยการใช้ศัพท์แสงทางวิชาการเป็นภาษาต่างประเทศตามความเชื่อของตนที่ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของนักการศึกษาตะวันตกจนคนในสังคมส่วนใหญ่ฟังไม่รู้เรื่อง
การปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วนั้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับและพัฒนาการศึกษาของชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐาน แต่ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากเป็นเพียงแค่การปฏิรูปในเชิงปริมาณหาใช่การปฏิรูปในเชิงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เน้นแต่การก่อสร้างอาคารเรียนต่างๆ ละเลยการพัฒนาคุณภาพครูและกระบวนการการเรียนการสอน ฯลฯ เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาของชาติโดยทุ่มงบประมาณแผ่นดินให้กับกระทรวงศึกษาธิการมากกว่าทุกกระทรวงโดยใช้งบประมาณสูงถึง 400,000 ล้านบาทเศษต่อปี ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งในประชาคมอาเซียนและเป็นลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณการลงทุนอย่างมากมายกับการศึกษาของชาติกับผลลัพธ์ที่ได้รับจากการจัดอันดับการศึกษาของ WEF นับว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะใช้งบประมาณมากแต่ความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษามีน้อย ถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของการศึกษาที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องย้อนกลับไปสำรวจและพิจารณาถึงปัญหาน้อยใหญ่นานัปการอย่างมีเหตุผลและมีความเหมาะสมบนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง
ปัญหาหลักซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการการเรียนรู้ทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน คือ การยกเลิกวิธีการสอนภาษาไทยให้เด็กฝึกอ่านเป็นคำๆ แบบภาษาอังกฤษ แต่ต้องหันกลับมาใช้วิธีการเดิมตามรูปแบบการสอนภาษาไทยในอดีตด้วยการฝึกสะกดคำอ่านตามพยัญชนะและสระ รวมถึงการฝึกผันวรรณยุกต์ มิเช่นนั้นเด็กจะอ่านหนังสือไม่ออก หรือแม้ว่าอ่านออกแต่ก็อ่านแบบกระท่อนกระแท่น ส่งผลให้เด็กไม่ชอบอ่านหนังสือเพราะอ่านไม่ออกหรืออ่านได้บ้างไม่ได้บ้าง อย่าลืมว่าภาษาไทยมีความสำคัญเปรียบเสมือนกุญแจในการไขความรู้จากวิชาต่างๆ
หากจะปฏิรูปการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาอย่างแท้จริง กระทรวงศึกษาธิการจะต้องแก้ไขตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือ จะต้องปฏิรูปกระบวนการการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนและนักเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นเบื้องต้นเสียก่อน ส่วนวิชาความรู้อื่นๆ ก็จัดให้มีสาระการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและทันต่อสภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาของชาติจึงจะมีคุณภาพและมาตรฐานที่จะนำพาคนในชาติไปสู่การเป็นผู้มีการศึกษาในอนาคต
ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล
ที่มาของข่าว : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 ตุลาคม 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น